สมุนไพร คือ พืชผักท้องถิ่นพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติในการแก้อาการเจ็บไข้ หรือรักษาโรคทั่วไปที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่ต่างๆ สมุนไพรบางชนิดขึ้นตามภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ซึ่งก็สามารถใช้รักษาโรคบางชนิดที่ เกิดขึ้นตามแต่ละท้องถิ่น
ปัจจุบัน ความเชื่อที่ว่าสมุนไพรเป็นเพียงพืชผักที่ใช้รักษาโรคได้ไม่หายขาดจริง ทำให้ทัศนคติของคนทั่วไปไม่มีความน่าเชื่อถือต่อภูมิปัญญาไทย
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือเด็กรุ่นเทคโนโลยีภิวัตน์ ที่เมื่อเจ็บป่วย ก็นึกถึงคลินิก โรงพยาบาล ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อมรอบตัว ทำให้มองข้ามสมุนไพรรอบรั้วบ้าน
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย มองว่า เด็กรุ่นใหม่จริงต้องเห็นบรรยากาศทั่วโลกที่หันมาสนใจผักผลไม้มากขึ้น และหันกลับมาสู่ธรรมชาติศึกษา พืชพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก
"ในมิติเชิงสังคม ผมเคยไปทำงานในสลัม ไปให้การศึกษาคนในสลัม พบว่ายาเป็น 1 ในปัจจัย 4 บ้านเราสมุนไพรเป็นทั้งอาหารและยา เราจะโต จะพัฒนา เราต้องพึ่งพาตนเองได้ทั้งปัจจัย 4 โดยเฉพาะยาและอาหาร เมื่อ 25 ปีที่แล้ว หากใครพูดเรื่องสมุนไพร เชยมาก บางคนถามว่าคุณเอา ยาพิษให้กับชาวบ้านหรือเปล่า ผมเริ่มจริงๆ จังๆ เมื่อตอน พ.ศ.2525 เพราะนักวิชาการละเลย ประมาณ ปี 2527-2529 บังเอิญองค์การอนามัยโลกเอาด้วย เพราะเห็นว่าประเทศที่กำลังพัฒนาไม่มีทางที่ยาจะเข้าถึง"
"เมื่อมองกลับสู่สังคมไทย เมื่อพูดถึงสมุนไพร คนนึกถึงคนแก่ๆ ยาต้มเชยๆ ถ้าเราเข้าใจความหมายสมุนไพรที่แท้จริง สมุนไพร ก็แปลว่าลูกน้องป่า เป็นสมุนของป่า ถ้ามองภาพกว้าง เชื่อมโยงไปยังเด็กรุ่นใหม่ สมุนไพรมี 4 มิติ คือ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และที่อยู่อาศัยหรือเครื่องนุ่งห่ม มิติเหล่านี้ถ้าเด็กรุ่นใหม่มองเห็นสิ่งเหล่านี้ ก็สามารถนำมาประกอบอาชีพได้"
นายวีรพงษ์ยกตัวอย่างว่า คุณค่าของสมุนไพรเมื่อนำมาประยุกต์ เรื่องความสวยความงาม เครื่องสำอาง ระยะหลังนี้มีการศึกษา แตงกวา ว่านหางจระเข้ น้ำผึ้ง กลับมาสู่พืชพันธุ์ธรรมชาติ อย่างที่สมัยนิยมคือ สปา ที่นำเอาพืชพันธุ์จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวอีกว่า ยารักษาโรคก็เช่นเดียวกัน หากรู้จักพืชผักและรู้คุณสมบัติต้นไม้ใบหญ้าที่เราปลูก แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ บางชนิด เมื่อยามเจ็บป่วยเราก็สามารถไปเด็ดมาใช้ได้
"เริ่มตั้งแต่เด็กๆ เยาวชน พบว่าต้นไม้รอบๆ ตัว สามารถเอามาดูแลสุขภาพได้ ตั้งแต่โรคพื้นฐาน อย่างท้องเสีย ท้องอืด เจ็บคอ เป็นไข้ ความดันโลหิตสูง หรือแม้แต่โรคที่คนเป็นกันมากอย่างเช่นเบาหวาน หากเรารู้จักพันธุ์พืช บางชนิดสามารถลดน้ำตาลในเลือด บรรเทาช่วยแบ่งเบาอาการรุนแรงของโรค หากเรามีความรู้ตรงนี้ก็แนะนำสมุนไพรให้กับพ่อแม่ได้"
นายวีรพงษ์ยกตัวอย่างพืช เช่น มะดัน รับประทานแล้วลดความดันได้ รากของต้นมะดันมีรสเปรี้ยว แก้เบาหวาน แก้ไข้หวัด แก้ไข้ทับระดู ขับฟอกโลหิต กัดเสมหะในลำคอ แก้กระษัย แก้ระดูเสีย เป็นยาระบายอ่อนๆ ใบมะดัน มีรสเปรี้ยวแก้หวัด แก้ไอ แก้กระษัย แก้เสมหะพิการ แก้น้ำลายเหนียว กัดเสมหะ แก้ประจำเดือนพิการ แก้ระดูเสีย ขับฟอกโลหิต เป็นยาระบายอ่อน ขับปัสสาวะ ส่วนผลมะดัน มีรสเปรี้ยว ล้างเสมหะ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต แก้ไอ แก้ประจำเดือนพิการ เป็นต้น นอกจากมะดันแล้วยังมี "ขึ้นฉ่าย" ที่สามารถนำมารับประทานเพื่อลดความดันได้อีกด้วย
หรือจะเป็นเบาหวาน ซึ่งหากรับประทานของขม อาทิ สะเดา มะระขี้นก บอระเพ็ด ฟ้าทลายโจร ก็จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
"ถ้าเรารู้ว่าพืชผักแต่ละชนิดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคอะไร แล้วทานผสมในอาหาร ก็จะช่วยให้เรากินยาน้อยลง อย่างอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย หากคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจ ก็จะรู้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าได้ใช้ สมุนไพรก็จะพบความมหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีดบาด เราก็มีว่านที่ช่วยสมานแผลได้อย่างดี ง่ายๆ แบบนี้เป็นเรื่องที่พบเห็นจับต้องได้ และสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ได้"
หรือแม้แต่เรื่องความสวยความงาม การที่วัยรุ่นต้องการจะมีรูปร่างที่ดูดี ไม่อ้วน จนทำให้หันไปหาแพทย์สมัยใหม่ กินยาลดความอ้วน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและระบบประสาท มีแต่ผลเสีย
"เรื่องควบคุมน้ำหนักตัว หากเรารู้ว่ากินอะไรเส้นใยอาหารเยอะ สมุนไพรชนิดไหนมีวิตามิน B หันมาสนใจจะช่วยได้มาก ทำให้เราเข้าใจและฉลาด ยาลด ยาระบาย แบบไทยๆ หรือแม้แต่ความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ถ่ายออกแล้วน้ำหนักลด ประเด็นอยู่ที่ไขมัน ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างทำให้ไขว้เขว เพราะมีการพาณิชย์เข้ามาด้วย การมีความรู้เรื่องสมุนไพรจะทำให้เรารู้ว่า อะไรแท้ อะไรเทียม"
นายวีรพงษ์ยังเชื่อมโยงระหว่างสมุนไพรกับการพึ่งพาตนเองในระดับชุมชนว่า การมีความรู้เรื่องสมุนไพร เท่ากับว่าได้เกิดการพึ่งพาตนเองในหลายระดับ หากทำให้ชาวบ้านรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นรอบตัว มะนาว มะละกอ มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ก็จะเกิดการพึ่งพาตนเองเพิ่มมากขึ้น
แม้แต่การเป็นไข้ไม่สบายก็สามารถกินยาพื้นๆ ที่หาได้ละแวกบ้าน หากไข้สูงมากๆ ก็ใช้หมอแผนไทย ซึ่งจะทำให้มีผู้เชี่ยวชาญดูแลคนในระดับชุมชน เป็นการขยายการพึ่งพากันในระดับกว้าง นอกจากนี้การใช้สมุนไพรยังหมายถึงการทำให้ชุมชนสัมพันธ์กับป่ามากขึ้น
ทั้งนี้ นายวีรพงษ์ต้องการให้ชุมชนใช้สมุนไพรเพื่อพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว หากแต่ปัญหาคือ บริษัทที่ผลิตยาออกมาขายตามคลินิก หรือโรงพยาบาล ทำให้การรักษาโรคด้วยสมุนไพร หรือแม้แต่การหาสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบในการพึ่งพาตนเองไม่สามารถทำได้
"เราสนับสนุนอุตสาหกรรม เรามีเจตนาชัดเจนว่าสังคมอยู่รอดต้องมีอุตสาหกรรม แต่ต้องไม่ใหญ่ เราสนับสนุนอุตสาหกรรมรายเล็ก รายน้อย หากทุนระดับใหญ่จะทำให้การพึ่งตนเองน้อยลง ในระดับภูมิภาค ผมมองว่าสถานะของโรคก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น การแพทย์เชิงวัฒนธรรม ผิดกับยาพาราเซตามอล เพราะโรคบางโรค ต้นไม้บางต้น เป็นของท้องถิ่น ขึ้นเฉพาะถิ่น แม้แต่การพึ่งตนเองระดับประเทศ อุตสาหกรรมรายเล็กรายน้อย ผมไม่ปฏิเสธการค้าขาย แต่เน้นระดับอุตสาหกรรมระดับเล็ก เน้นให้เกิด เพราะระดับใช้องค์ความรู้แตกต่างกัน ยาแผนปัจจุบันต้องมี อย. มีกฎหมาย ต้องมีแบบแผนคุ้มครองผู้บริโภคตามมา ก็ดี ผมไม่ได้ปฏิเสธ ถ้าเดินด้วยกันได้หลายๆ ระดับ"
ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพให้ความเห็นว่า ประโยชน์จากสมุนไพรยังสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะนำโรคที่คนไทยเป็นบ่อยๆ มากางบัญชี เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน จะเกิดโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ก็จะสามารถตั้งเป้าว่าต่อไปจะใช้ยาสมุนไพรอย่างไร เราจะพึ่งพาประเทศได้มหาศาล
"ดังนั้น จึงกลับไปสู่ภูมิปัญญา เรื่องสุขภาพฝากให้ใครไม่ได้ สุขภาพอยู่กับมือเราเอง คนวันนี้หลงลืมการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานหมด เป็นแผลเล็กๆ หากไม่ดูแลให้หายเร็วๆ ต่อไปก็จะลาม แล้วติดเชื้อ สุขภาพของเราอยู่ที่มือเรา และเราต้องมีความรู้"
ถึงกระนั้น ทุกวันนี้นายวีรพงษ์พยายามที่จะให้ความรู้แก่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ๆ ให้กลับมาเล็งเห็นคุณค่าของสมุนไพรใกล้ตัว
ที่นอกจากจะทำให้มีความรู้ ความ เข้าใจในเรื่องสมุนไพรแล้ว นายวีรพงษ์เชื่อว่าจะสามารถประหยัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศได้ มหาศาล
อ้วน.com ขอขอบคุณ - ประชาชาติ
http://www.xn--q3c1ar6i.com/forum/
ดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรใกล้ตัว
Posted on 07:47 by yut