1 ธันวาคมของทุกปี คือวันเอดส์โลก เป็นโอกาสดีที่จะได้อัพเดทสถานการณ์โรคเอดส์ในบ้านเรา ที่ทุกวันนี้ยังมีแม่ตั้งครรภ์และเด็กเกิดใหม่ติดเชื้อทุกปีทั้งที่ยาและการ รักษาก้าวไปถึงขั้นทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตยืนยาวได้ตามปกติ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
แพทย์หญิงกุล กัญญา ………… หัวหน้าสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ในเด็ก อธิบายว่าเมื่อมีการใช้ยาต้านไวรัสHIV ในหญิงตั้งครรภ์ หรือประมาณ 10 ปีมานี้ สถานการณ์ของโรคเอดส์ในเด็กจึงดีขึ้นมาก
? อัตราการติดเชื้อลดลงด้วยประสิทธิภาพของยา การติดเชื้อ HIV ในหญิงตั้งครรภ์ลดลงจาก ประมาณ 1-2% อยู่ที่ 0.8% ส่วนเด็กเกิดใหม่ที่ติดเชื้อจากปีละประมาณ 2,000 คนลดลงอยู่ที่ประมาณ 300-400 คน
? การปกป้องเด็กในครรภ์ได้ผลสูงการกินยาต้านไวรัสอย่างถูกต้อง ครบถ้วน แม่จะปกป้องลูกจากการติดเชื้อได้ และยังรักษาตนเองให้มีชีวิตยืนยาวปกติได้ด้วย
? ยาต้านไวรัสอยู่ในสิทธิประกันสุขภาพ ผู้ติดเชื้อสามารถรักษาตัวด้วยยาต้านไวรัสโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และกรณีของแม่ที่ติดเชื้อ เมื่อคลอดแล้วยังมีนมผสมให้สำหรับเลี้ยงลูกไปจนถึงอายุ 1 ขวบฟรีด้วย
ด้วย สัญญาณดีของการรักษาโรคเอดส์ข้างต้น ทางการแพทย์จึงมองเห็นโอกาสที่ไม่มีเด็กเกิดใหม่ติดเชื้อ HIV ทว่ากลับไม่ใช่เรื่องง่าย … เพราะอะไร…???…???
แม่ตั้งครรภ์ไม่ฝากท้อง
“เด็กทุกรายที่ติดเชื้อHIV ในปัจจุบัน เกิดจาก แม่ไม่ได้ฝากท้อง จึงติดเชื้อขณะคลอด เมื่อคลอดแล้ว มีการตรวจถึงมารู้ว่าตนเองติดเชื้อ แม่จึงหมดโอกาสปกป้องลูกจากการติดเชื้ออย่างน่าเสียดายมาก
“การปกป้องเด็กไม่ให้ติดเชื้อ คือ แม่ต้องกินยาต้านไวรัสตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ ดังนั้นการฝากครรภ์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ แม่ท้องจะได้รับการตรวจรู้เร็ว ได้กินยาเร็ว โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อน้อยกว่า 1% หรือจะเรียกว่าแทบจะไม่ติดเชื้อเลยก็ได้ และตัวแม่เองก็มีชีวิตยืนยาวได้ปกติด้วย”คุณหมอกุลกัญญา ชี้ประเด็น
โอกาสลูกติดเชื้อ HIV จากแม่ ขณะคลอด
- แม่ไม่ได้กินยาต้านไวรัสเลย ลูกมีโอกาสติดเชื้อ 1 ใน 4
- แม่ได้กินยาต้านไวรัส อย่างน้อย 4 สัปดาห์ก่อนคลอด ลูกโอกาสติดเชื้อประมาณ 10%
- แม่กินยาต้านไวรัส มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อนคลอด โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อเหลือน้อยกว่า 2%
นมแม่กับการติดเชื้อ HIV
คุณแม่ๆ อาจเคยได้ข้อมูลว่าในต่างประเทศ แม่ที่ติดเชื้อ HIV ให้นมแม่ได้ แต่สำหรับในประเทศไทย เป็นมาตรการเดียวกันชัดเจนทั่วประเทศว่า แพทย์ไม่แนะนำให้แม่ที่ติดเชื้อ HIV ให้นมแม่
คุณหมอกุลกัญญา ได้ชี้แจงเหตุผลไว้ดังนี้
- แม่ตั้งครรภ์ที่มารู้ว่าตนเองได้รับเชื้อ เมื่อช่วงหลังๆ ของการตั้งครรภ์ หรือได้รับเชื้อหลังคลอดใหม่ๆ ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดจะสูงมาก มีโอกาสสูงที่น้ำนมแม่จะมีเชื้อไวรัสออกมาได้ เราจึงไม่แนะนำให้แม่ที่ติดเชื้อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่ต้องการให้เด็กติดเชื้อจากนมแม่
- หากแม่ไม่มีวินัยเคร่งครัดกับการกินยาต้านไวรัส มีโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อจากนมแม่ได้ จริงอยู่ที่ว่า หากแม่ได้กินยาต้านไวรัสอย่างดี ทั้งช่วงตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด คือช่วงให้นมแม่ โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากแม่มีน้อยมาก แต่เพียงการลืมกินยาไม่กี่มื้อ ไม่กี่วัน ทำให้เกิดปัญหาปริมาณไวรัสกลับมาชั่วคราว ซึ่งไวรัสจะมาในปริมาณน้อยไม่สร้างปัญหาให้กับสุขภาพของแม่ แต่ไวรัสเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะผ่านเข้ามาในน้ำนมและถึงลูกได้
“ขณะที่ประเทศไทยแม่ที่ติดเชื้อ HIV สามารถดูแลตัวเองด้วยยาต้านไวรัส และมีนมผสมสำหรับเลี้ยงลูกไปจนถึงอายุ 1 ขวบโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เราจึงไม่จำเป็นต้องให้เด็กแรกเกิดเสี่ยงต่อการติดเชื้อ”
ในต่างประเทศ
- ประเทศที่ยากจนมากๆ พบว่า ถ้าเด็กเกิดใหม่ไม่ได้กินนมแม่ มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงเพราะ สุขอนามัยของประชากรยังไม่ดี องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ในประเทศที่มีปัญหาเรื่องสุขอนามัยน้ำบริโภคไม่สะอาดเพียงพอ ให้แม่ตั้งครรภ์กินยาต้านไวรัส ป้องกันเชื้อไม่ให้ติดไปถึงลูก เพราะในขณะกินยาต้านไวรัส ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อย ปริมาณไวรัสที่ออกมาในน้ำนมก็มีน้อย หรือไม่มีเลย เพราะฉะนั้นลูกจะกินนมแม่ได้อย่างปลอดภัย
- ประเทศที่พร้อมทั้งเรื่องยา การให้ความรู้ การตรวจติดตาม ความเข้าใจและวินัยของประชากรเปิดโอกาสให้แม่ที่ติดเชื้อ ที่กินยาต้านไวรัสอย่างดี จนตรวจแล้วว่าไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศในแถบยุโรป
“เนื่องจากการศึกษาวิจัย มีผลออกมาชัดเจนว่า ถ้ากินยาต้านไวรัสได้ดีมาก จนไม่มีไวรัสในกระแสเลือด ลูกก็ปลอดภัย และในประเทศดังกล่าว แม่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจและเคร่งครัดในการกินยา รวมทั้งมีมาตรการการตรวจติดตามปริมาณไวรัสในกระแสเลือดบ่อยจนมั่นใจว่าไม่มี เชื้อไวรัสในกระแสเลือดของแม่แล้ว”
// สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุนิพัจ
ขอขอบคุณบทความดีๆเกี่ยวกับ แม่และเด็ก จาก Real Parenting Magazine