อัลตราซาวด์ กี่ D ถึงจะพอและปลอดภัย
Posted on 23:21 by yut
ซาวนด์ 2D อย่างเดียวจะเห็นอวัยวะลูกครบไหม?
ซาวนด์ 2D 3D 4D มันต่างกันยังไง?
จำเป็นไหมที่ต้องซาวนด์ 4D ?
ใครให้คำตอบได้บ้าง ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องอัลตราซาวด์กี่มิติ 2 มิติ 3 มิติ หรือ 4 มิติ ถามคุณหมอโรงพยาบาลรัฐบาลบอกว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นอัลตราซาวด์แค่ 2 มิติก็เพียงพอแล้ว แต่เห็นที่โรงพยาบาลเอกชน เขาเน้นความสำคัญของการอัลตราซาวด์ 4 มิติ ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แล้วตกลงว่าคนเป็นแม่อย่างเราจะเชื่อใครดีอัลตราซาวด์กี่มิติถึงจะพอและ ปลอดภัยต่อลูกที่อยู่ในท้อง
รู้จัก Ultrasound
เมื่อ 20-30 ปี การคลอดลูกแต่ละครั้ง เรียกว่าต้องลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย ไม่ใช่แค่ต้องลุ้นเรื่องเพศของลูกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสุขภาพของเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลกด้วยว่าอวัยวะ จะครบ 32 ไหม ร่างกายของทารกจะแข็งแรงสมบูรณ์หรือเปล่า ต้องคอยลุ้นกันทีเดียว กระทั่งบ้านเราได้นำเครื่องมือทางการแพทย์ที่เรียกว่า เครื่องอัลตราซาวด์ มาทำให้วงการสูตินรีแพทย์สามารถดูแลคุณแม่และลูกในครรภ์ได้สะดวกและปลอดภัย มากยิ่งขึ้น
เจ้าเครื่องนี้จะใช้การทำงานของเสียง เป็นหลัก เมื่อเปิดเครื่อง กระแสไฟฟ้าจะสลับที่ไหลเข้ามาภายในเครื่องแล้วจะผ่านหัวตรวจ ซึ่งภายในมีผลึก (Plezoelectric Materidal) ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาจากหัวตรวจ และเมื่อเสียงกระทบเนื้อเยื่อต่างชนิดกันก็จะเกิดการสะท้อนและการดูดกลับของ เสียงไม่เท่ากันในเวลาที่ไม่เท่ากันตามระดับความลึกของเนื้อเยื่อนั้น ๆ หลังจากนั้นจะแปลผลเป็นภาพบนหน้าจอ ซึ่งในปัจจุบันการอัลตราซาวด์มีหลายรูปแบบให้เลือก ทั้ง 2D 3D 4D แต่ละชนิดมีการทำงานและประโยชน์ทางการแพทย์ที่แตกต่างกันไป แต่ก่อนที่จะสรุปว่าควรเลือกอัลตราซาวด์แบบไหนนั้น คุณแม่จำเป็นต้องทำความรู้จักกับมันให้ดีเสียก่อน
2D การอัลตราซาวด์ประเภทนี้ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ทั่วไปจะเป็นภาพ 2 มิติ ภาพที่ได้เป็นภาพตัดขวางทีละภาพ ตามแนวของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกไปในแนวระนาบ (ความกว้าง x ความยาว) ภาพลักษณะนี้คนทั่วไปอย่างเราจะดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ค่ะ เห็นเป็นเพียงเงาดำ ๆ เท่านั้น
3D ในการสร้างภาพอัลตราซาวด์แบบ 3 มิติ หัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบพร้อมกัน ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลติดต่อกัน และข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังหน่วยประมวลผลของเครื่องและทำการสร้างเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งมิติที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาคือความลึก ทำให้ภาพที่เห็นนั้นเสมือนวัตถุจริง ไม่ใช่เป็นภาพตัดขวางของวัตถุเหมือนแบบ 2 มิติเท่านั้น
4D การอัลตราซาวด์ประเภทนี้จะมีการประมวลผลที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพ แล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว จึงสามารถเห็นภาพทารกเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์ ตลอดจนเห็นกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำให้อยู่ในขณะตรวจได้ด้วย
ประโยชน์ของ Ultrasound
แน่ นอนค่ะว่าการอัลตราซาวด์ทุกชนิด มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่และคุณลูกในท้อง แต่ในทางการแพทย์นั้น การจะเลือกใช้อัลตราซาวด์แต่ละชนิดนั้นมีประโยชน์แตกต่างกันไปด้วย
1.เพื่อดูอายุครรภ์ ในกรณีที่การนับวันหลังประจำเดือนขาดคลาดเคลื่อน การอัลตราซาวด์จะทำให้ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน
2.เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารก ใช้ตรวจความผิดปกติของตัวเด็ก วินิจฉัยความพิการทางร่างกาย แต่กำเนิดของทารก
3.เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตรวจสอบว่ามีการตั้งครรภ์อยู่ภายในโพรงมดลูกหรือไม่ มีการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือครรภ์อยู่ภายในโพรงมดลูกหรือไม่ มีการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่ รวมถึงประเมินน้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
4.เมื่อเกิดความผิดปกติของการตั้งครรภ์หรือการเจริญเติบโตของทารก ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติของตัวเด็ก การอัลตราซาวด์จะช่วยหาสาเหตุของความผิดปกติเหล่านั้น และประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ได้ โดยการดูแลเคลื่อนไหว การหายใจของทารก เช็กน้ำคร่ำ และยังสามารถดูตำแหน่งของรกว่าเกาะต่ำหรือไม่
5.เหตุผลอื่น ๆ เช่น ต้องการดูเพศทารก การอัลตราซาวด์เพื่อดูเพศทารกในครรภ์เป็นเรื่องที่มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดี ส่วนใหญ่ถ้าจะทำก็จะต้องอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ขึ้นไป และนอกจากจะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ ความละเอียดของเครื่อง และท่าของทารกด้วย ไม่ได้หมายความว่าถ้าต้องการซาวด์เพื่อดูเพศแล้วจะสมหวังเสมอไป
ซึ่งโดยทั่วไปคุณหมอจะแนะนำให้อัลตราซาวด์ เพียง 2-3 ครั้ง ในระหว่างที่ตั้งครรภ์เท่านั้น ทั้งนี้ถ้ากรณีที่คุณแม่ไม่อยากทำอัลตราซาวด์เลย ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า สถิติการเกิดของเด็ก เด็กมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความผิดปกติ ดังนั้นควรทำอย่างน้อย 1 ครั้ง และควรทำขณะอายุครรภ์ประมาณ 18-22 สัปดาห์ เพื่อจะดูว่า อายุครรภ์ตรงหรือไม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียว หรือครรภ์แฝด เพราะข้อมูลที่ได้จะช่วยในการวางแผนการรักษาในอนาคตค่ะ
อัลตราซาวด์อันตรายไหม
ความ คิดที่ว่า การอัลตราซาวด์บ่อย ๆ จะปลอดภัยต่อลูกในท้องหรือไม่ เรื่องนี้ ทางการแพทย์ยืนยันว่า คลื่นเสียงความถี่สูงจากการอัลตราซาวด์นั้นไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยของทารกใน ครรภ์ เพราะไม่มีการใช้รังสี และยังไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะเกิดความผิด ปกติแต่อย่างใด
ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเลือกอัลตราซาวด์ กี่ D นั้น คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์อยู่ค่ะ เพื่อพิจารณาข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นทางเลือกในการอัลตราซาวด์ ซึ่งหากสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงดี บางครั้งคุณหมออาจจะไม่แนะนำการอัอัลตราซาวด์ที่มากกว่า 2D แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและกำลังทรัพย์ของคุณแม่ แต่พึงระลึกเสมอนะคะว่า มากไปก็ไม่ใช่ น้อยไปก็ไม่ดี ทำเท่าที่จำเป็นดีที่สุดค่ะ
Mom Experience
“4 มิติค่ะ เพราะระยะเวลาในการตรวจครรภ์สั้นลง สามารถมองเห็นร่างกายของทารกและอวัยวะต่าง ๆ ได้จากภาพที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และอวัยวะภายนอกของทารกในครรภ์สามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่า นอกจากนี้ยังเห็นท่าทางของลูกอย่างชัดเจน สามารถมองเห็นทารกกำลังหาว ดูดนิ้ว ยิ้ม กลืนน้ำคร่ำ กะพริบตาหรือขยับนิ้วมือ และที่สำคัญคือความผูกพันในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ ทารกยังอยู่ในครรภ์ และยังเป็นสิ่งที่เรารอคอย”
แพรวไพริน เจริญรุ่งเรือง
“เลือก 4D เพราะท้องตอนอายุมาก ท้องแรกตอนอายุ 35 ปี มีความเสี่ยงสูงในหลาย ๆ เรื่อง ทำอัลตราซาวด์ 4D ช่วงอายุครรภ์ 7 เดือน เพราะอวัยวะภายนอกเริ่มสมบูรณ์ และเป็นช่วงที่เหมาะกับการทำมากที่สุด หากอายุครรภ์มากกว่านี้เด็กจะตัวโตเต็มท้องอาจจะเห็นไม่ชัดนัก คุณหมอให้ดูทีละส่วน เห็นหน้าชัดเจน จึงทำให้โล่งใจมากขึ้น ได้ดีวีดีกลับมาดู เมื่อเอารูปมาเทียบกับตอนคลอดแล้ว เหมือนกันจริง ๆ ค่ะ”
Becky Tan
“ทำ ทั้ง 3 แบบเพื่อความสบายใจ ซาวนด์ 2D ตอนอายุครรภ์น้อย ๆ ก่อน ดูอวัยวะต่าง ๆ ว่าทำงานปกติดีไหมพออายุครรภ์ซัก 3 เดือน ก็เปลี่ยนมาเป็น 3D และ 4D ตามลำดับ เพราะอยากจะเห็นหน้าลูกชัด ๆ ว่าจะเหมือนพ่อหรือแม่ พอลูกสาวคลอดออกมาบอกได้คำเดียวค่ะว่าเหมือนที่ซาวด์ไว้ไม่มีผิด”
แม่ต้อง พ่อตอง น้องลูกตาล
“2D ก็พอค่ะ การอัลตราซาวด์ขึ้นอยู่กับความเก่งและเชี่ยวชาญของหมอด้วย เพราะของตัวเอง 2D ก็ทราบเพศลูกตั้งแต่ 3 เดือนครึ่งแล้วค่ะ”
Plamy Narak
ขอขอบคุณบทความดีๆเกี่ยวกับ แม่และเด็ก จาก momypedia.com