เพราะในทุกวันที่ทารกเติบโตอยู่ในครรภ์มารดานั้นมีความหมายต่อ พัฒนาการและ โอกาสการรอดชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วทารกควรอยู่ในครรภ์นาน 9 เดือน หากแต่มีอยู่หนึ่งปัญหาสำคัญที่มักทำให้แพทย์ต้องหยุดการตั้งครรภ์ หรือทำคลอดให้ก่อนกำหนด นั่นคือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ทั้ง นี้ รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล่าว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษมิใช่จะเกิดขึ้นกับหญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 40 ปีเท่านั้น แม้แต่ผู้หญิงสุขภาพดีก็เสี่ยงเกิดขึ้นได้ หากเข้าข่ายปัจจัยอันได้แก่ ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ตั้งครรภ์ครั้งแรก ครรภ์แฝด น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ตนเองหรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ ป่วยโรคอายุรกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะความดันสูงเรื้อรัง โรคไต โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ตัวเองหรือ SLE โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย และตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย อย่างการทำกิ๊ฟท์ ทำเด็กหลอดแก้ว
แต่ เดิมหลักทางการแพทย์ที่ใช้ประเมินความเสี่ยง นอกจากซักประวัติเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว หมอบุญศรีบอกว่า แพทย์ยังต้องตรวจความดันโลหิต และตรวจค่าโปรตีนในปัสสาวะ หากผลปรากฏว่า ความดันสูงเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มม.ปรอท และมีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มก.ใน 24 ชั่วโมง แพทย์อาจชี้ว่า หญิงดังกล่าวมีอาการครรภ์เป็นพิษ แต่ก็เป็นการวินิจฉัยที่ทำได้ยาก เนื่องจากอาการทั้งสองนั้น ไม่ใช่อาการเฉพาะของภาวะครรภ์เป็นพิษ
หากถามว่า อาการครรภ์เป็นพิษจะแสดงให้เห็นชัดเจนเมื่อใด หมอบุญศรีตอบว่า มักเกิดขึ้นหลังอายุครรภ์ผ่านไป 20 สัปดาห์ หรือราว 5 เดือน ไปจนถึง 48 ชั่วโมงก่อนคลอด แต่ส่วนใหญ่มักพบหลังอายุครรภ์ผ่านไป 32 สัปดาห์ หรือราว 8 เดือน
ล่าสุดการตรวจวินิจฉัยมีความก้าวหน้าอีกขั้น โดยหมอบุญศรีเล่าว่า ปัจจุบันมีการนำสารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ มาใช้วัดระดับโปรตีนสำคัญ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือด หรือ PIGF และอีกกลุ่มคือโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด หรือ sFlt-1 โดยใช้วินิจฉัยร่วมกับวัดการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดที่เลี้ยงมดลูก ซึ่งเหล่านี้ควรตรวจช่วงอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์
การ ตรวจไม่ยุ่งยาก แพทย์จะเจาะเลือดบริเวณแขนของหญิงตั้งครรภ์ไปตรวจโดยใช้สารบ่งชี้ และวินิจฉัยด้วยเครื่องมืออัตโนมัติที่แม่นยำและรวดเร็ว เพียง 18-20 นาที ก็จะรู้ผล หากผลชี้ว่า มีความไม่สมดุลระหว่างโปรตีนทั้ง 2 กลุ่มนี้ คือ โปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือดมีระดับต่ำลง แต่โปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดมีระดับสูงขึ้น ประกอบกับการไหลเวียนเลือดที่หลอดเลือดเลี้ยงมดลูกไม่ดี ก็จะทำให้แพทย์รู้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่ามีโอกาสสูงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อมีหลายปัจจัยสุขภาพที่ทำให้เกิดความเสี่ยงตั้งครรภ์เป็นพิษได้ไม่ยาก แนะหญิงที่วางแผนหรือกำลังตั้งครรภ์อย่าละเลยการฝากครรภ์ การตรวจสุขภาพครรภ์ตามแพทย์นัด เพราะถ้าพบความเสี่ยง แพทย์จะได้วางแผนการรักษาได้ทัน เพื่อให้ลูกเกิดรอด และแม่ปลอดภัยนั้นเอง
ขอขอบคุณบทความดีๆเกี่ยวกับ แม่และเด็ก จาก dailynews.co.th